การฝังยาคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิด หรือ ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (Contraceptive implant หรือ Implantable contraception) คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร เป็นการใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว คือ โปรเจสติน (Progestin) ที่บรรจุเอาไว้ในหลอดหรือแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันชนิดกลม นำมาฝังเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกายและไปยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ จึงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และยาสามารถออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3 ปี หรือ 5ปี ตามชนิดของยาฝังคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้

  • ชนิด 1 หลอด คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี (Implanon) จะเป็นฮอร์โมน Etonogestrel 68 มิลลิกรัม แท่งยาฝังจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 70-60 ไมโครกรัม
  • ชนิด 2 หลอด คุมกำเนิดได้นาน 5 ปี (Jadelle) จะเป็นฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มิลลิกรัม ที่ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 100-40 ไมโครกรัม ซึ่งระดับฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจะสูงในช่วงแรก ๆ แล้วจะค่อย ๆ ลดลงจนคงที่ในระยะเวลาต่อมา

ยาฝังคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

  • ทำให้มูกปากมดลูกข้นเหนียวขึ้น เชื้ออสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก
  • ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ไม่เหมาะสมในการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว
  • ระงับการตกไข่

สตรีใดควรใช้ยาฝังคุมกำเนิด

  • สามารถใช้ได้ในสตรีเกือบทุกคน โดยเฉพาะสตรีที่ต้องการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป
  • สตรีที่มีบุตรพอแล้ว แต่ไม่พร้อมที่จะทำหมัน
  • สตรีที่มีข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอโมนเอสโตรเจน

ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฝังยาคุมกำเนิด

  • ขณะไม่ตั้งครรภ์ ควรฝังภายใน 5 วันแรก ของการมีประจำเดือน(ในระหว่างที่เรามีประจำเดือนวันแรก ถึง วันที่ 5 ของการมีประจำเดือนห้ามเกินนั้นค่ะ) เพื่อแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • หลังการคลอดบุตร ภายใน 4-6 สัปดาห์
  • หลังการแท้งบุตร สามารถฝังได้ทันทีหลังการแท้ง หรือหลังแท้ง 2-3 สัปดาห์

วิธีการฝังยาคุมกำเนิด
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า จะคุมกำเนิดโดยการใช้ยาฝังคุมกำเนิด เราสามารถไปขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือสอบถามตามคลินิกสูตินรีเวชต่าง ๆ ได้ค่ะ โดยการฝังยาสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกได้เลย และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลค่ะ เพราะใช้เวลาไม่นาน แค่ประมาณ 20-30 นาทีก็เสร็จ(จริงแล้ว ๆ ใช้เวลาฝังยาไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จแล้วค่ะ)

ขั้นตอนการฝังยาคุมกำเนิด

  • เริ่มแรกแพทย์จะวัดหรือกะระยะแล้วทำรอยขนาดเล็กไว้บนท้องแขนด้านในข้างที่เราไม่ถนัดหรือข้างที่ต้องการจะฝังยา
  • จากนั้นทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วทำการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปที่ใต้ท้องแขน ซึ่งอาจทำให้เจ็บบ้างเล็กน้อย แต่จะช่วยทำให้การฝังยาไม่รู้สึกเจ็บค่ะ
  • จากนั้นแพทย์จะใช้เข็มนำเปิดแผลที่ท้องแขนขนาด 0.3 เซนติเมตร และทำการสอดใส่แท่งตัวนำหลอดยาที่มียาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็มนำนี้ หลังจากหลอดยาเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็จะถอนแท่งนำยาและเข็มนำออก
  • แล้วทำการปิดแผล(โดยไม่ต้องเย็บแผล) ด้วยพลาสเตอร์ยากันน้ำ100%
  • จากนั้นพันแผลด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่งก็เป็นอันเสร็จค่ะ และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล

ภาพ 1 : ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 1 หลอด(Implanon) คุมกำเนิดได้ 3 ปี

implanon ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 1 หลอด
implanon ยาฝังคุมกำเนิดชนิด 1 หลอด

ภาพ 2 : หลังฝังยาเสร็จ ติดพลาสเตอร์ยากันน้ำ100% แล้วพันด้วยผ้าพันแผล

หลังฝังยาเสร็จ ติดพลาสเตอร์ยากันน้ำ แล้วผันด้วยผ้าผันแผล
หลังฝังยาเสร็จ ติดพลาสเตอร์ยากันน้ำ แล้วผันด้วยผ้าผันแผล

ภาพ 3 : เมื่อครบ 24 ชั่วโมง(หรือตามที่แพทย์สั่ง) ก็ถอดผ้าพันแผลออก จะเห็นพลาสเตอร์ยากันน้ำ(กันน้ำได้ 100%)

ถอดผ้าพันแผลออก จะเห็นพลาสเตอร์ยากันน้ำ
ถอดผ้าพันแผลออก จะเห็นพลาสเตอร์ยากันน้ำ

ภาพ 4 : เป็นภาพหลังจากฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว 1 สัปดาห์ โดยแกะพลาสเตอร์ยากันน้ำและผ้าพันแผลออก จากภาพจะเห็นว่าแผลมีขนาดเล็กมากและมีรอยฟกช้ำบ้างเล็กน้อย

หลังแกะพลาสเตอร์ยากันน้ำออกจะเห็นปากแผลเล็กนิดเดียว และมีรอยฟกช้ำบ้างเล็กน้อย
หลังแกะพลาสเตอร์ยากันน้ำออกจะเห็นปากแผลเล็กนิดเดียว และมีรอยฟกช้ำบ้างเล็กน้อย

ข้อปฏิบัติภายหลังการฝังยาคุมกำเนิด

หลังฝังยาคุมกำเนิด ผ้าพันแผลจะต้องพันทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง(หรือตามที่แพทย์สั่งค่ะ) เพื่อป้องกันเลือดออกหรือหยุดจุดเลือดต่าง ๆ ในวันรุ่งขึ้นเราก็สามารถแกะผ้าพันแผลออกได้เลยค่ะและอาจพบว่า มีรอยฟกช้ำและเจ็บแขนเล็กน้อยบริเวณรอบ ๆ แท่งยาอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วรอยฟกช้ำจะค่อย ๆ หายไปเองค่ะ โดยรอยแผลจะเริ่มหายเป็นปกติภายใน 3-5 วัน หลังจากฝังยาไปแล้วให้หลีกเลี่ยงการถูกน้ำโดยตรงของแผลเป็นเวลา 7 วันค่ะ และควรมาตรวจหลังจากการฝังยา 7 วัน เพื่อดูความผิดปกติ ในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการถูกกระทบกระแทกบริเวณที่ฝังยา และต้องไปเปลี่ยนยาฝังคุมกำเนิดตามที่แพทย์นัดนะคะ(ห้ามลืมค่ะ) ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการของการตั้งครรภ์ แผลมีเลือด มีน้ำเหลือง มีหนอง บวมแดง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

ค่าใช้จ่ายในการฝังยาคุมกำเนิด

  • ถ้าฝังยาคุมกำเนิดในโรงพยาบาลของรัฐ ก็จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,500-4,000 บาทค่ะ
  • แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิก จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-7,000 บาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ค่ะ

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นภายหลังการฝังยาคุมกำเนิด

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีเลือดออกกะปริบกะปรอย และอาจจะลดน้อยลงหลังฝังยาไปแล้วประมาณ 6 เดือน
  • อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ แต่ไม่บ่อย เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นสิว ปวดศีรษะ

ข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด

  • เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง
  • ไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์
  • ใส่ครั้งเดียว คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี หรือ 5 ปี ตามชนิดของยาฝังคุมกำเนิด
  • สามารถใช้ได้ในสตรีระยะให้นมบุตร โดยไม่มีผลไปรบกวนปริมาณและคุณภาพของน้ำนม
  • เมื่อหยุดใช้ยานี้แล้ว สามารถมีบุตรได้ตามปกติ

ข้อเสียของการฝังยาคุมกำเนิด

  • การฝังและการถอดจะต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้ว(ไม่สามารถถอดหรือฝังโดยแพทย์ทั่วไปได้ค่ะ)

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *