ประชาสังคมคืออะไร ความหมายประชาสังคม

คำว่า “ประชาสังคม” มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society และมีผู้ใช้คำภาษาไทยเทียบเคียงกันหลายคำ อาทิ “สังคมประชาธรรม” (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) “สังคมราษฎร์” (เสน่ห์ จามริก) “วีถีประชา”(ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำนี้โดยมีนัยยะของคำว่า Civic movement) “อารยสังคม” (อเนก เหล่าธรรมทัศน์) และ”สังคมเข้มแข็ง”(ธีรยุทธ บุญมี) เป็นต้น ทั้งนี้ นักคิดสำคัญ ๆ ของสังคมไทยได้อธิบายขยายความคำว่า “ประชาสังคม” หรือ Civil Society นี้ในบริบทเงื่อนไขและการให้น้ำหนักที่แตกต่างกัน อันพอรวบรวมในเบื้องต้นได้ดังนี้

ความหมายของประชาสังคม ประชาสังคมคืออะไร

ศ.นพ.ประเวศ วะสี นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจุดประกายการคิดถกเถียง ในเรื่อง “ประชาสังคม” ให้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านงานเขียนชิ้นสำคัญคือ “สังคมสมานุภาพและวิชชา” โดยในงานเขียนดังกล่าวประกอบกับบทความย่อย ๆ และการแสดงปาฐกถาและ การอภิปรายในที่ต่าง ๆ พอประมวลเป็นความคิดรวบยอดได้ว่า ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ภาคส่วนหลัก (Sectors) ของสังคมที่มีความเข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมากคือ ภาครัฐ หรือ “รัฐานุภาพ” และภาคธุรกิจเอกชนหรือ “ธนานุภาพ” ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลทำให้สังคม ขาดดุลยภาพและเกิดความล้าหลังในการพัฒนา ของฝ่ายประชาชนหรือ ภาคสังคม ซึ่งเรียกว่า “สังคมานุภาพ”

ดังนั้นการนำเสนอแนวคิดของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี จึงมุ่งไปที่การทำอย่างไรที่จะเกื้อหนุนให้ภาคสังคมหรือภาคประชาชนมีความเข้มแข็งและเกิดดุลภาพทางสังคมขึ้น ที่เรียกว่าเป็น “สังคมสมานุภาพ” โดยนัยยะนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เชื่อว่าจะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งที่ชุมชน(Community Strengthening) (ประเวศ วะสี 2536) จนเกิดคำขยายความตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ความเป็นชุมชน เป็นต้น ดังการให้ความหมายของการเป็น “ชุมชน” ในที่นี้ ว่าหมายถึง “การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี วัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกันหรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างและมีระบบการจัดการในระดับกลุ่ม” (ประเวศ วะสี 2539) ซึ่งโดยนัยยะนี้ประชาสังคมที่เข้มแข็ง ต้องมีรากฐานที่เกิดจากการมีชุมชนที่หลากหลายและเข้มแข็งด้วย

มีข้อพึงสังเกตสำคัญต่อเรื่องการเกื้อหนุนภาคสังคม ที่เสนอแนวคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ว่าด้วย “ความร่วมมือเบญจภาคี” (ต่อมาใช้คำว่า “พหุภาคี”) โดยมองว่าชุมชนในปัจจุบันอ่อนแอมาก การที่จะทำให้ชุมชน มีความเข้มแข็งได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของภาคสังคมต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนด้วย “สังคมสมานุภาพ” จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกระบวนการถักทอความรักของคนในสังคม ของคนในชุมชน ถักทอทั้งแนวดิ่ง อันหมายถึง โครงสร้างอำนาจที่เป็น ทางการและแนวนอนซึ่ง หมายถึงพันธมิตร/เพื่อน/เครือข่ายเข้าหากัน ซึ่งหากพิจารณาจากประเด็นนี้ การให้ความหมายหรือความสำคัญของ “ประชาสังคม” ของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี นั้น มิได้กล่าวถึง”การปฏิเสธรัฐ” หรือ State Disobedience แต่อย่างใด

อ.ธีรยุทธ บุญมี และ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ สองนักคิดทางสังคมคนสำคัญ ที่ได้ให้ความสนใจกับเรื่อง “ประชาสังคม” อย่างมากเช่นเดียวกัน อ.ธีรยุทธ มองว่าการแก้ปัญหา พื้นฐานทางสังคมนั้นควรให้ความสำคัญกับ “พลังที่สาม” หรือพลังของสังคม หากแม้นว่าสังคมโดยรวมมีความเข้มแข็ง นักธุรกิจ นักวิชาชีพ นักศึกษา ปัญญาชนชาวบ้าน สามารถร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันสังคม ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐาน ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ สังคมที่เข้มแข็งในความหมายของ ธีรยุทธ บุญมี นั้น จะเน้นที่ลักษณะที่กระจัดกระจาย (Diffuse) พลังทางสังคมที่มาจากทุกส่วนทุกวิชาชีพทุกระดับ รายได้ ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งโดยนัยยะนี้ จะมีความแตกต่างจากแนวคิด”ประชาชนเป็นส่วนใหญ่” หรือ “อำนาจของประชาชน” ดังเช่นขบวนการ เคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตเป็นอย่างมาก (ธีรยุทธ บุญมี 2536)

อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความหมายของ “ประชาสังคม” หรือ “อารยสังคม” ที่ครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม เน้นเรื่องความสมานฉันท์ ความกลมเกลียว ความกลมกลืนในภาคประชาสังคมมากกว่าการดูที่ความแตกต่างหรือ ความแตกแยกภายใน อย่างไรก็ตามมุมมองของ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นของ “คนชั้นกลาง” “การมีส่วนร่วม” “ความผูกพัน” และ “สำนึกของความเป็นพลเมือง” กล่าวคือ “ประชาสังคม” โดยนัยยะนี้ มิได้หมายถึงความเป็นชุมชนของสังคมชนบทเท่านั้นแต่กิน ความรวม ไปถึงคนชั้นกลางภาคเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นเครือญาติหรือเป็น แบบคุ้นหน้า (face to face relationship) แต่เป็นความผูกพัน (bond) ของผู้คนที่หลากหลายต่อกันบนฐาน แห่งความร่วมมือและการแสวงหาการมีส่วนร่วม และด้วยสำนึกที่มีต่อความเป็นพลเมือง หรือ Citizenship นั่นเองนอกจากนี้ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญถึงรากฐานของคนไทย และสังคมไทยว่า คนไทยส่วนมากยังมีระบบวิธีคิดว่าตนเองเป็นไพร่ (client) หรือคิดแบบไพร่ ที่จะต้องมีมูลนายที่ดี โหยหาคนดี จึงมักขาดสำนึกของความเป็นพลเมืองและมองปัญหาในเชิง โครงสร้างไม่ออก

อย่างไรก็ตาม ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้เรื่อง “ประชาสังคม” กลายเป็นแนวคิดในเชิงอุดมการณ์ ทางสงคม “ผมขอเสนอให้เรื่อง Civil Society เป็นเรื่องของอุดมการณ์ จะต้องมีคำขึ้นมาก่อน ไม่มีคำก็ไม่มีความคิด ไม่มีความคิดก็ไม่มีอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นคำว่า Civil Societyต้องสร้างให้เป็น Concept อย่างเช่น วัฒนธรรมชุมชน…. จึงจะเห็นมีพลัง มีประโยชน์” (อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2539)

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นนักคิดอีก 2 ท่านที่กล่าวถึง “ประชาสังคม” โดยเน้นที่การปรับใช้ในบริบท ของสังคมไทย ค่อนข้างมาก โดยที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช มองว่า “ประชาสังคม” หมายถึง ทุก ๆ ส่วนของสังคมโดยรวมถึงภาครัฐ ภาคประชาชนด้วย ถือว่าทั้งหมด เป็น Civil Society ซึ่งแตกต่างจากความหมายแบบตะวันตกที่แยกออกมาจากภาครัฐ หรือนอกภาครัฐ แต่หมายถึงทุกฝ่ายเข้ามาเป็น partnership กัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2539ก) โดยนัยยะนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ความสำคัญกับ Civic movement หรือ “วิถีประชา” ที่เป็นการดำเนินกิจกรรม ของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ โดยเอาตัวกิจกรรมเป็นศูนย์กลางปราศจากการจัดตั้ง ดังข้อเสนอที่สำคัญใน เชิงยุทธศาสต์การพัฒนา ในช่วงของการจัดทำแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ 8 คือ Area-Function-Participation – AFP กล่าวคือจะต้องเน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วม ในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาของ ทุกฝ่ายร่วมกันในระดับพื้นที่ (ย่อย ๆ) ซึ่งในที่นี้ อาจเป็นพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น เขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล ภาคตะวันออก เป็นต้น (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2539)

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ให้ความหมายของ “ประชาสังคม” ที่กว้างขวางและผนวกเอาแนวคิดที่กล่าว มาข้างต้น มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน กับบริบทของสังคมไทยว่า หมายถึง “การที่ผู้คนในสังคม เห็นวิกฤตการณ์ หรือสภาพปัญหาในสังคมที่สลับซับซ้อนยากแก่การแก้ไข มีวัตถุประสงค์ร่วมกันซึ่งนำไปสู่การก่อจิตสำนึก (Civic consciousness) ร่วมกัน มารวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือองค์กร (Civic group) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน หรือภาคสังคม (ประชาชน) ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership) เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหรือ กระทำการบางอย่างให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ด้วยความรัก ความสมานฉันท์ความเอื้ออาทรต่อกันภายใต้ระบบการจัดการโดยมีการเ ชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Civic network)” (ชูชัย ศุภวงศ์ 2540)

ทั้งนี้ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ยังได้เสนออีกว่าปัจจุบันขบวนการประชาสังคมของไทย ได้มีพัฒนาการและ ความเข้มแข็งเชื่อมโยงเครือข่ายกันมาก พอสมควร โดยเฉพาะเครือข่ายของชาวบ้านและเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนต่ าง ๆ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญ ต่อกระบวนการแสวงหา ทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ของสังคม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเอดส์ ปัญหาสาธารณสุข การทำเกษตรทางเลือก เป็นต้น อย่างไรก็ดี นายแพทย์ชูขัย ศุภวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญไว้ว่า ในเงื่อนไขของสังคมไทยปัจจุบันยังคงมีกระแสเหนี่ยวรั้งที่จะฉุด มิให้ กระบวนการสร้างความ เข้มแข็งของสังคมเติบโตขึ้น อันได้แก่ ระบบพรรคการเมือง รัฐไทยและระบบราชการ ระบบการศึกษา ความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง และสื่อมวลชนที่ขาด อิสระเป็นต้น (ชูชัย ศุภวงศ์ 2540)

คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นักคิดนักพัฒนาอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีบทบาททางความคิด และการเชื่อมโยงภาคีต่าง ๆ ของสังคมเพื่อ การพัฒนามาอย่าง ต่อเนื่อง ได้ให้ความหมายของ “ประชาสังคม” ว่าหมายถึง “สังคมที่ประชาชนทั่วไป ต่างมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ของประชาชน โดยอาศัยองค์กร กลไก กระบวนการ และกิจกรรมอันหลากหลาย ที่ประชาชนจัดขึ้น” โดยนัยยะของความหลากหลาย ขององค์กรนี้ไม่ว่า จะเป็น กลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั ้งสิ้น จึงเป็นเสมือน “สังคม” ของ “ประชา” หรือ Society ของ Civil นั่นเอง อย่างไรก็ดี คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ยังเสนอต่ออีกด้วยว่า “ประชาสังคม” นั้นเป็นส่วนของสังคม ที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่ง ดำเนินงานโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและก็ไม่ใช่ภาคธุรกิจ ซึ่งดำเนินงานโดยมุ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ

จากตัวอย่างความหมาย และแนวคิดข้างต้นจะ เห็นถึงความต่าง ความเหมือน และการวางน้ำหนักในการอธิบายที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี จะสังเกตได้ว่าคำอธิบายจากนักคิด นักวิชาการของไทย ในข้างต้น เป็นคำอธิบายที่วางอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์หรือ บริบทของ สังคมไทยร่วมสมัย (Contemporary Situation) อีกทั้งยังมีลักษณะของ ความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งที่จริงปรากฏการณ์นี้ ก็ไม่ต่างไปจากประเทศในซีกโลกตะวันตกแม้แต่น้อย อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหว เรื่องประชาสังคมในประเทศตะวันตกนั้น ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมกว่าในเมืองไทยมากนัก อีกทั้งกระแสการรื้อฟื้น “ความเป็นประชาคม” หรือ “ความเป็นชุมชน” ในความหมายใหม ่นั้นดูจะเป็นทางออกที่ลงตัวสำหรับสังคมที่มีความพร้อมของ “พลเมือง” จริง ๆ

หากพิจารณาถึงความลึกซึ้ง ของแนวคิดภายใต้กระแสงการสร้างชุมชนดังกล่าว จะพบว่า ชุมชนในที่นี้ หมายถึงชุมชนแห่งสำนึก (Conscious community) ที่สมาชิกของชุมชน ต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยรวมที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อาจจะด้วยพื้นฐานของระบบคุณค่า เก่าหรือเป้าประสงค์ใหม่ของการเข้ามาทำงาน ร่วม ดังนั้น คำว่า “ประชาคม” หรือ “ชุมชน” จึงอาจมีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่บริษัทขนาดเล็ก บริษัทหนึ่ง ถนนสายหนึ่ง หมู่บ้าน ๆ หนึ่ง เมือง ๆ หนึ่ง หรือกลุ่มสนใจเรื่องๆ หนึ่ง เป็นต้น ความเป็นชุมชนจึงมีลักษณะ เป็นพลวัตที่บุคคลและกลุ่มคนต่างมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่สน ใจ ร่วมกัน มีความสัมพันธ์และตัดสินใจร่วมกัน โดยมีพันธะ เชื่อมโยงกับระบบใหญ่ บนพื้นฐานแห่งความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันและหัวใจสำคัญอันหนึ่งที ่จะเป็นเงื่อนไขของการสร้าง ความเป็นชุมชนที่แข็งแรงก็คือ การสื่อสาร (Communication) นั่นเอง

กระแสการรื้อฟื้นชุมชนเป็นกระแสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติที่โค รงสร้างของรัฐชาติไม่สามารถเข้ามาจัดการได้ ในขณะเดียวกัน ความเป็นเสรีชน ก็อ่อนแอเกินไป ต่อวิกฤติที่สลับซับซ้อน การเกิดขึ้นของชุมชนไม่ใช่การสร้างให้เกิดขึ้น หากแต่เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเข้ามา เติมเต็มช่องว่างระหว่างรัฐและพลเมือง

แหล่งที่มา
http://www.thaicivinet.com
http://www.vijai.org/articles_data/show_topic.asp?Topicid=108

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *