ชื่อวิทยาศาสตร์
Cucumis sativa Linn. วงศ์ Cucurbitacea
ชื่ออังกฤษ
Cucumber
ชื่อท้องถิ่น
แตงขี้ไก่ แตงขี้ควาย แตงช้าง แตงร้าน (ภาคเหนือ) แตงปี แตงยาง (แม่ฮ่องสอน) แตงเห็น แตงอ้ม (เชียงใหม่) ตาเสาะ (เขมร) อึ่งกวย (จีน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แตงกวาเป็นไม้เถามีอายุปีเดียว ต้น มีขนหยาบสีขาว ใบ ออกสลับกันทรงสามเหลี่ยม มนใหญ่ กว้าง 12-18 เซนติเมตร มีแฉกใหญ่ 3-5 แฉก ตัวใบมีขนทั้งสองด้าน ดอก แยกเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกันกลีบดอกเป็นหลอดสีเหลือง ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมล็ด รีแบน ผิวเรียบสีขาว ผล รูปทรงกระบอกมีลายเขียวแก่มีพื้นสีเขียวอมขาวมีขนาดต่างๆ กัน ในทางพฤกษศาสตร์แตงกวาและแตงกวาและแตงร้านมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน พืชนี้มีถิ่นกำเนิดในทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เป็นพืชที่รู้จักกันดี ในบางพันธุ์ผลที่ยังอ่อนจะมีตุ่มยื่นออกมา
การใช้ในเครื่องสำอางและสรรพคุณทางยา
ฤทธิ์ฝาดสมาน
น้ำคั้นจากผลสดมีฤทธิ์ฝาดสมาน กระชับรูขุมขน ทำให้ผิวหน้าเรียบตึง ในผลมีเอนไซม์ อีเรบซิน (erepsin) ช่วยย่อยโปรตีน ซึ่งจะช่วยย่อยผิวชั้นนอกที่หยาบกร้านออกไปทำให้ผิวหน้าอ่อนนุ่มเนื่องจากในผลแตงกวามีปริมาณกรดอะมิโนสูง จึงนิยมใช้น้ำแตงกวาผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า ครีมทาตัว แว่นแตงกวานำมาวางแนบบนผิวหน้าให้ความชุ่มชื้นเย็นบำรุงผิว น้ำและเนื้อแตงกวาให้ความสดชื่นได้ดี
ยาเย็น
ผลเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ แก้ไข้ กระหายน้ำ คอเจ็บ ตาแดง ไฟลวกและผดผื่นคัน กินเป็นผักจิ้ม หรือนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด
แก้ท้องเสียบิด
ใบมีรสขม มีพิษเล็กน้อยใช้แก้ท้องเสีย บิด
ยาถ่ายพยาธิ
เนื้อในเมล็ด (kernel) จากเมล็ดแก่กินเป็นอาหาร และใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
ขับปัสสาวะ แก้บิด หนองใน โรคผิวหนังเป็นฝีเล็กๆ มีหนองและลดความดันโลหิต
สารสำคัญ
ผลแตงกวาเมื่อนำมาวิเคราะห์จะมีส่วนประกอบดังนี้ ความชื้น 96.4% โปรตีน 0.4% ไขมัน 0.1% คาร์โบไฮเดรต 2.8% แร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสเฟอรัส และเหล็ก วิตามินบี และวิตามินซี ผลแตงกวามีเอนไซม์อยู๋หลายชนิด คือ เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน ascorbic acid oxidease, succinic malic dehydrogenase เถ้า (ash) จากเมล็ดมีปริมาณของฟอสเฟอรัสสูง
ใน ใบ ต้น และ ขั้ว ของแตงกวา มีสาร cucurbitacin A,B,C และ D cucurbitacin C มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอกชนิดมีพิษได้
เมล็ด มีน้ำมันซึ่งประกอบด้วย oleic acid, linoleic acid, palmitic acid, stearic acid, phytin และ lecithin
ข้อควรระวัง
ในกรณีผู้ที่กระเพาะอาหารเป็นแผล กินแล้วจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสียง่าย
ที่มา : พรสวรรค์ ดิษยบุตร. 2546. เครื่องสำอางจากสมุนไพร. อรุณการพิมพ์. กรุงเทพฯ.