คุณผู้หญิงที่ชอบการใส่ส้นสูงเพื่อความสวยสง่านั้นทราบกันหรือไม่ว่าอาจมีอันตรายต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของเท้าซ่อนเร้นอยู่
การใส่รองเท้าส้นสุงไม่เพียงทำให้เกิดอันตรายต่อบริเวณข้อเท้า เช่น การลื่นหกล้ม ทำให้เกิดข้อพลิก อย่างที่หลายท่านทราบกันดียู่แล้ว แต่เนื่องจากลักษณะของรองเท้าที่เป็นที่นิยมของคุณผู้หญิงทั้งหลายมักเป็นรองเท้าส้นสูงที่มีบริเวณปลายเท้าแคบ ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อต่อบริเวณโคนหัวแม่เท้า จนทำให้นิ้วหัวแม่เท้ามีลักษณะผิดรูปและทำให้เกิดอาการเจ็บปวด
โรคนิ้วหัวแม่เท้าเกอออกด้านนอก หรือที่เรียกกันว่า bunion เป็นความผิดปกติของโคนนิ้วหัวแม่มือแม่เท้ามีลักษณะของนิ้วหัวแม่เท้าชี้เกอออกไปด้านข้าง ร่วมกับการเกิดก้อนนูนที่บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านใน ซึ่ง bunion เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดอาการปวดและทำให้สวมใส่รองเท้าลำบาก โดยส่วนมากจะพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
“รองเท้า” ต้นเหตุหลักของปัญหา
โดยปกติเท้าของเราจะประกอบไปด้วยกระดูกกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนที่ห่อหุ้มกระดูกอยู่ เมื่อสวมใส่รองเท้าที่มีการบีบรัดกันมากๆ เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติที่บริเวณนิ้วเท้าได้ โดยส่วนใหญ่มีกเกิดจากการที่มีแรงผิดปกติร่มกับการเสียดสีที่กระทำกับนิ้วเท้า ซึ่งส่วนของกระดูกที่นูนขึ้นมามากกว่าส่วนอื่นจะมีโอกาสได้รับอันตรายมากที่สุด เช่น บริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า ทั้งนี้อาการส่วนใหญ่มักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้ระยะเวลานาน
นอกจากนี้ บริเวณผิวหนังที่มีการตอบสนองต่อการเสียดสีเป็นเวลานานจะทำให้เกิดส่วนของผิวหนังที่ด้านหนา (callus) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมากยิ่งขึ้น เมื่อสวมใส่รองเท้าที่บีบรัดมากขึ้นก็จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาคือ รองเท้า โดยเฉพาะแบบที่บีบรัดตรงบริเวณปลายเท้ามากๆ หรือในรองเท้าส้นสูงที่ทำให้น้ำหนักของร่างกายทิ้งไปตรงบริเวณส่วนปลายเท้ามากขึ้น จึงทำให้เกิดการผิดรูปของโคนนิ้วหัวแม่เท้ามากยิ่งขึ้น
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีหลักของการรักษา
การรักษาส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมใส่รองเท้า โดยเลือกรองเท้าที่ไม่มีการบีบรัดมากเกินไปและไม่ใช่รองเท้าส้นสูง เลือกรองเท้าที่มีส่วนของบริเวณปลายนิ้วเท้ากว้างมากขึ้นปรับให้เหมาะสมกับสภาพของเท้า ซึ่งอาจช่วยไม่ให้เกิดการผิดรูปของบริเวณนิ้วเท้ามากขึ้น และช่วยลดอาการปวดอันเกิดจากการที่มีแรงกดประทำต่อบริเวณโคนนิ้วเท้าอันเนื่องมาจากรองเท้าที่สวมแน่นเกินไปเนื่องจากรองเท้าที่มีหน้ากว้างจะช่วยลดแรงกดที่กระทำต่อบริเวณโคนนิ้วเท้าที่มีการอักเสบได้
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดมากอาจใช้วิธีการทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบด้วยความเย็นหรือความร้อน รวมทั้งการให้ยาแก้ปวดลดอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล และผู้ป่วยยังมีอาการปวดอยู่ ก็อาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อตัดส่วนที่เป็นก้อนนูนออก จัดแนวกระดูกให้ตรง และทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆข้อนิ้วหัวแม่มือมีความสมดุลกัน
อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการป้องกัน โดยการหลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูงที่มีส่วนปลายเท้าแคบ ควรสวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีไม่คับ ปลายรองเท้ากว้าง ไม่บีบรัดนิ้วเท้าเพียงเท่านี้คุณก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วเกอออกทางด้านข้างได้