โรคริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่ทำให้มีความเจ็บปวดทรมาน ทั้งยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โรคริดสีดวงทวารหนักสามารถรักษาให้หายได้หากรู้วิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม การรักษาเบื้องต้นซึ่งยังสามารถทำได้ด้วยตนเองอีกด้วย และริดสรดวงมีด้วยกันหลายชนิด และชนิดที่เราจะนำความรู้มาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้นั้นจะเป็นความรู้ของริดสีดวงมะเฟือง หรือริดสีดวงกลีบมะเฟืองนั่นเอง
ริดสีดวงทวารหนักมีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน คือ
- 1.เดือยไก่ จะเป็นติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นในรูทวาร ลักษณะจะเป็นหัวเดี่ยวหรือหลายหัว แต่หัวจะไม่อยู่ติดกัน (ไม่ใช่ ไม่เหมือน ฝีคัณฑสูตร)
- 2.กีบมะไฟ ขนาดหัวจะเล็กเกิดติดๆกันหลายๆหัวขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง
- 3.กีบมะเฟือง ขนาดหัวจะใหญ่ ทั้งกีบมะไฟและกีบมะเฟืองจะมีลักษณะแตกต่างกันที่ขนาดของหัว แต่จะเป็นติ่งเนื้อ เป็นหัว ที่เกิดติดๆกัน เล็ก ใหญ่ ยื่นออกมาย้อยคล้อยออกมานอกขอบทวารเวลาขับถ่าย
- 4.บานทะโรค ลักษณะที่เป็นคล้ายฝักบัว หัวจะคล้ายฝักบัว หัวจะปลิ้นย้อยออกมานอกขอบทวารดูคล้ายฝักบัว จะบานออกมาทั้งหมด
ริดสีดวงมะเฟือง คืออะไร
ริดสีดวงมะเฟือง หรือริดสีดวงกลีบมะเฟือง เป็นริดสีดวงชนิดรุนแรง มีหัวริดสีดวงขึ้นอยู่รอบปากทวารหนักจนมีลักษณะคล้ายลูกมะเฟือง ริดสีดวงแบบนี้มีหลายหัวทำให้ปวดแสบปวดร้อนเวลาขับถ่าย ถ้าไม่รีบทำการรักษาจะกลายเป็นริดสีดวงบานทะโรค ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของริดสีดวง อันตรายมาก ๆ จนถึงแก่ชีวิตได้
ริดสีดวงมะเฟือง เกิดจากอะไร
สาเหตุมักเกิดจากแรงดันที่มีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติในเส้นเลือดทวารหนักจนมีอาการบวม ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้เกิดได้หลายประการ ได้แก่
- การยกของหนักบ่อย ๆ
- การนั่งถ่ายอุจจาระนาน การเบ่งอุจจาระแรง และการมีอาการท้องผูก
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ท้องเสียบ่อย
- คนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
- ผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทางทวารหนัก
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป
- มีโรคประจำตัวอื่นที่เพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง ภาวะตั้งครรภ์ โรคอ้วน เป็นต้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาการของริดสีดวงมะเฟือง
อาการหลัก ๆ ของริดสีดวงมีดังนี้
- มีเลือดออกขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ
- มีติ่งหรือก้อนที่ทวารหนักอาจมีอาการคัน ปวด เจ็บ บริเวณที่เป็นริดสีดวง
- นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะร่วมด้วย
วิธีการรักษา
โดยส่วนมากโรคริดสีดวงจะสามารถรักษาให้หายเองได้ โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้
- การนั่งแช่ในน้ำอุ่น เพื่อลดการอักเสบและลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำประมาณ 10-15 นาที โดยควรทำทั้งก่อนและหลังถ่ายอุจจาระ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการเพิ่มอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น และดื่มน้ำให้มากขึ้น
- การกินยา โดยผู้ป่วยสามารถกินยาลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ หรือยาแก้ปวด
- เหน็บยา แพทย์จะสั่งยาเหน็บเพื่อรักษาให้อาการดีขึ้น
- การฉีดยา จะทำโดยการฉีดยาเข้าไปในชั้นใต้เยื่อบุ ทำให้เกิดพังผืดรัดเส้นเลือด โดยฉีดระดับเหนือหูรูดทวารหนัก แต่แพทย์จะไม่ฉีดสารเคมีเข้าริดสีดวงโดยตรง เพราะสารเคมีอาจจะเข้าเส้นเลือดและส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องและแน่นหน้าอกได้
- การใช้ยางรัด เป็นวิธีสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายในที่ยื่นออกมาที่มีขั่วขนาดเหมาะสมในการรัด โดยแพทย์จะใช้หนังยางรัดเพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ
- การจี้ริดสีดวง จะทำการจี้ริดสีดวงด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรืออินฟาเรด
- การผ่าตัด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะที่ 3-4 เพราะติ่งเนื้อจะมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บ หรือผูกหัวริดสีดวง นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือตัดเย็บเพื่อทำให้ติ่งเนื้อกลับเข้าไปในลำไส้ตรงอีกด้วย
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดริดสีดวงมะเฟือง
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องผูก
- ควรดื่มน้ำในปริมาณมากวันละ 8-10 แก้วเพื่อให้ขับถ่ายง่าย
- ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงเกินไป
- หากพบว่ามีเลือดออกมากควรรีบพบแพทย์
- รักษาสุขอนามัย โดยการล้างก้นด้วยน้ำสะอาดอยู่เสมอ และไม่ควรใช้กระดาษชำระที่แข็งจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้รูทวารหนักเกิดบาดแผลได้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น
ขอบคุณข้อมูลความรู้จาก : โรงพยาบาลเพชรเวช , ramachannel