วิธีเก็บเนื้อสัตว์ ให้สด ใหม่ เก็บไว้ทานได้นาน

เก็บเนื้อสัตว์ ให้สด ใหม่ เก็บไว้ทานได้นาน ทำอย่างไร เก็บอย่างไรให้ของสดที่เราชอปมาทีเยอะ ๆ ถึงจะสด ใหม่ เหมือนตอนซื้อมา จะมีวิธีเก็บอย่างไรมาดูกัน

สวัสดีค่ะแม่แม่ เชื่อว่าหลาย ๆ บ้าน ต้องมีการชอปปิ้ง ซื้อของสดจำพวกเนื้อสัตว์มาตุนไว้ทำอาหารกันอย่างแน่นอนเลยใช่ไหมคะ แม่บ้านนี้ก็เช่นกันค่ะ เพราะที่บ้านแม่ทำกับข้าวกินกันเองไม่ค่อยซื้อสำเร็จทาน ทำให้เวลาไปห้างซื้อของทีจะชอบตุนพวกผักสด ผลไม้ และเนื้อสัตว์มาไว้ใช้สำหรับทำอาหารในปริมาณที่เยอะ

แต่การที่เราซื้อของสดมาไว้ทีละเยอะ ๆ แน่นอนเลยปัญหาหลัก ๆ ก็คือเราจะทำอย่างไร เก็บอย่างไรให้ของสดที่เราชอปมาทีเยอะ ๆ ถึงจะสด ใหม่ เหมือนตอนซื้อมา ใช่ไหมคะ การเก็บผักให้สด ใหม่ และใช้ได้นาน แม่ได้เขียนไว้ให้ในบทความก่อนหน้าแล้วนะคะ วันนี้แม่มี วิธีเก็บเนื้อสัตว์ ให้สด ใหม่ เก็บไว้ทานได้นานในฉบับของแม่มาแบ่งปันแม่แม่บ้านอื่นกันค่ะ จะมีวิธีอย่างไรเชิญ พ่อพ่อ แม่แม่ ตามแม่มาเข้าครัวกันเลยจ้า

เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่เราซื้อมา
เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่เราซื้อมา

วิธีเก็บเนื้อสัตว์ให้คงคุณค่าทางอาหาร และคงคุณภาพที่ดี

การเก็บ เนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว หมู ไก่ หรือปลา เราสามารถเก็บอาหารไว้ในช่องแช่แข็งได้นานที่สุดโดยการแช่แข็งอาหารเหล่านี้ไว้ที่ -18°C หรืออุณภูมิที่ติดลบกว่านี้ ซึ่งความเย็นในอุณหภูมินี้จะหยุดการทำงานของจุลินทรีย์ อย่างเช่น แบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อรา รวมทั้งชะลอการทำงานของเอนไซม์ การใช้ถุงซิป หรือเก็บ เนื้อสัตว์ ในถุงที่ปิดมิดชิดจะช่วยให้อาหารเหล่านี้คงความสดได้นานขึ้น

แนวทางการเก็บอาหารทะเลในช่องฟรีซ

สำหรับอาหารทะเลแช่แข็งนั้นจะมีความซับซ้อนกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ เล็กน้อย อย่างปลาไม่ติดมัน เช่น ปลาดุก สามารถแช่แข็งได้เป็นเวลา 6-8 เดือน แต่ปลาที่มีไขมันอย่างปลาแซลมอนควรแช่แข็งไว้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น และในส่วนของ กุ้ง หอย และอาหารทะเลอื่น ๆ สามารถแช่แข็งได้ 3-6 เดือน

เนื้อปลาแซลมอน เนื้อไก่ อกไก่ เครื่องในไก่

เนื้อปลาแซลมอน เนื้อไก่
เนื้อปลาแซลมอน เนื้อไก่
ปิดฝาให้สนิท
ปิดฝาบล็อกให้สนิท

หั่นเนื้อปลาเป็นชิ้น ๆ แล้วนำใส่บล็อกซิลิโคน (บล็อกซิลิโคนที่แม่ใช้จะเป็นบล็อกขนาด 2 ออนซ์ค่ะ) พอแช่ฟรีซเนื้อปลาแข็งตัวแล้วนำออกจากบล็อกใส่ถุงซิปแล้วแช่ฟรีซอีกที ที่นำใส่บล็อกซิลิโคนเพราะเวลาเนื้อปลาแข็ง จะเป็นก้อน ๆ ในปริมาณตามขนาดของบล็อกที่ใส่ ทำให้สะดวกเวลาหยิบออกมาประกอบอาหาร

กุ้ง

กุ้งสด
กุ้งสด
แพ็กใส่ถุงซิป
แพ็กใส่ถุงซิป

แม่จะทำการตัดปลายหัวส่วนที่แหลม ๆ ขา และหนวดกุ้งออกให้เรียบร้อย ยังไม่ต้องล้างนะคะ แพกใส่ถุงซิปเลยค่ะ ปริมาณตามที่เราจะใช้ในแต่ละครั้งของการนำมาประกอบอาหารได้เลย ตอนจะใช้ทำอาหารถึงนำมาละลายแล้วล้างให้สะอาดอีกทีค่ะ

แนวทางการเก็บเนื้อวัว เนื้อหมู ในช่องฟรีซ

เนื้อวัว เนื้อหมูที่ยังไม่ได้ปรุงสุก สามารถแช่แข็งไว้ได้หลายเดือนโดยที่ยังคงคุณภาพของเนื้อได้ ถ้าเนื้อย่างแล้วสามารถแช่แข็งได้ 4-12 เดือน เนื้อสับ หมูสับสามารถแช่แข็งได้ 4-6 เดือน สำหรับเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นไว้เพียง 2-3 เดือนเพื่อคงคุณภาพไว้สูงสุด แต่ถ้าเป็นหมูที่ผ่านการแปรรูป เช่น แฮม ฮอทด็อก เบคอน แนะนำให้แช่แข็งอาหารเหล่านี้เป็นเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น จริง ๆ แล้วสามารถเก็บ เนื้อสัตว์ ไว้ในช่องแช่แข็งได้นานกว่านี้ แต่คุณภาพอาจไม่ดีเท่าเดิม

เนื้อวัว เนื้อหมู

หมูสับ
หมูสับ

ถ้าเป็นชิ้นใหญ่ แม่จะหั่นเป็นชิ้นขนาดในปริมาณตามที่เราต้องการทำอาหารในแต่ละครั้ง จากนั้นนำใส่ถุงซิปแล้วแช่ฟรีซ ถ้าเป็นเนื้อ หรือหมูสับ หรือบด แม่จะนำใส่ถุงซิปในปริมาณตามที่เราต้องการจากนั้นจะนำเข้าแช่ฟรีซเลยโดยไม่ล้างน้ำหรือทำความสะอาด ก่อนประกอบอาหารนำออกมาละลายแล้วถึงจะล้างทำความสะอาดอีกทีค่ะ

แนวทางการเก็บเนื้อสัตว์ปีกจพวกเป็ด ไก่ ในช่องฟรีซ

สัตว์ปีกแช่แข็งสามารถเก็บไว้ได้นานถึงหนึ่งปีโดยไม่ทำให้คุณภาพลดลง ชิ้นส่วนของไก่ เช่น ต้นขา หน้าอก หรือปีก สามารถเก็บได้นานถึง 9 เดือน แต่เครื่องในไม่ควรเก็บเกิน 3-4 เดือน ในส่วนของไก่บดควรเก็บไว้ไม่เกิน 3-4 เดือนเช่นกัน

น่องไก่ ปีกไก่

ปีกไก่ น่องไก่
ปีกไก่ น่องไก่

เวลาเลือกซื้อน่องไก่ ปีกไก่ แม่จะดูก่อนว่าของสดไหม ถ้ายังสด ๆ อยู่ถึงซื้อ เพราะจากประสบการณ์ในการซื้อไก่ตามห้างหลาย ๆ ครั้ง ถ้าไก่ไม่สดนำมาแช่ตู้เย็นในช่องเก็บอาหารสดเพื่อรอแพ็กเข้าฟรีซ เผลอแป้ปเดียวไก่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำเหมือนจะเน่าเลย แม่เลยต้องเลือกที่มันสด ๆ หน่อย ส่วนมากจะเลือกซื้อที่เป็นปีกบนที่มีทั้งส่วนน่อง และส่วนปีดติดมาด้วยกัน จากนั้นนำมาแยกหั่นแยก ยังไม่ต้องล้างทำความสะอาดนะคะ แล้วแพ็กใส่ถุงซิปในปริมาณตามที่ต้องการ จากนั้นนำเข้าแช่ฟรีซเลยค่ะ

นำเข้าช่องฟรีซ
นำเข้าช่องฟรีซ
จัดเรียงให้เป็นระเบียบง่ายต่อการหยิบ
จัดเรียงให้เป็นระเบียบง่ายต่อการหยิบ

อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ แม่ก็จะใช้เป็นบล็อกซิลิโคน และถุงซิปค่ะ บล็อกไว้ใส่เนื้อสัตว์ที่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอแช่เป็นก้อนแล้วแกะใส่ถุงซิปอีกที ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ เช่น กุ้งเป็นตัว ๆ ปีกไก่ น่องไก่ แบบนี้จะแพ็กใส่ถุงซิปเลยจ้าาา 😊

การทำความสะอาด ตอนนำออกมาประกอบอาหารแม่ถึงจะทำการล้างทำความสะอาด เนื้อสัตว์จะสดใหม่ และเก็บได้นาน คงคุณภาพได้มากกว่าที่เราล้างทำความสะอาดก่อนแช่ฟรีซค่ะ 😊

ฝากติดตามทริคดี ๆ ใหม่ ๆ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ที่แฟนเพจ JP Family’s ของแม่ได้นะคะแม่แม่ เป็นกำลังใจให้แม่ด้วยน๊า และอย่าลืมแวะมาเอ็นดูวต้าวธีร์กันนะคับ

ขอบคุณข้อมูลความรู้เพิ่มเติมจาก : เพื่อนแท้ร้านอาหาร

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *