บุหรี่ไฟฟ้าดีจริงไหม ให้คุณหรือโทษมากกว่ากัน?

บุหรี่ไฟฟ้าคือ อุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอ ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าประกอบไปด้วยสารนิโคติน สารแต่งกลิ่น PG
บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้าที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไหม? ทำไมผู้คนถึงให้ความสนใจและหันมาสูบกันมากขึ้น แล้วประโยคที่ว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าสูบบุหรี่มวนธรรมดา” นั้นปลอดภัยจริงหรือไม่? มาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ากันได้ในบทความนี้เลย!

บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?

บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic cigarette) คือ อุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวนทั่วไป แต่จะเป็นการระเหยของน้ำยาที่บรรจุอยู่ภายใน โดยสารเคมีที่ประกอบอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมี นิโคติน (Nicotine) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) กลีเซอรีน (Glycerine) สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) เป็นต้น

ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน แต่โดยทั่วไปแล้วส่วนประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้าจะประกอบไปด้วย

  1. แบตเตอรี่ (Battery)
  2. ตัวทำให้เกิดความร้อนและไอ (Atomizer)
  3. ตลับเก็บน้ำยา (Cartridge)

นอกเหนือจากนี้บุหรี่ไฟฟ้าจะขาดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า (E-Liquid หรือ E-Juice)” ไม่ได้ เพราะจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าทำงานไม่เต็มรูปแบบ โดยน้ำยานี้จะถูกบรรจุในตลับเก็บน้ำยาเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทำความร้อน เมื่อเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาที่อยู่ภายในจะเกิดความร้อนทำให้ระเหยกลายเป็นไอออกมา ซึ่งในช่วงที่สูบนี้เองร่างกายจะได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ในน้ำยา ก่อนถูกพ่นออกมาเป็นไอ

โดยสารเคมีที่มักพบผสมอยู่ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีดังนี้

  • นิโคติน (Nicotine) คือสารเสพติดชนิดหนึ่งสามารถพบได้ในบุหรี่มวนปกติทั่วไป บุหรี่ไฟฟ้า ซิการ์ ไปป์ เป็นต้น นิโคตินเป็นสารสกัดจากใบยาสูบส่งผลต่อสมองและระบบประสาท เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้นิโคตินยังส่งผลคลายความกังวล ทำให้เกิดความผ่อนคลาย รวมถึงง่วงนอนได้ด้วย ทั้งนี้การออกฤทธิ์ของสารนิโคตินจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและระดับความตื่นตัวของระบบประสาท

  • สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) เป็นสารเคมีที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไป เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันเรื่องความปลอดภัยว่า ถ้าหากเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอ เมื่อสูดดมเข้าไปแล้วจะเกิดผลข้างเคียงอะไรต่อร่างกาย
  • กลีเซอรีน (Glycerine) คือสารที่ไม่มีกลิ่นและไม่แต่งสี มีรสชาติหวานเล็กน้อย ทางอย.ไทยยืนยันว่าปลอดภัยสามารถใช้ได้ในอาหารและยา แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันเช่นกันอีกว่าหากเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอแล้ว เมื่อสูดดมเข้าไปจะเกิดผลข้างเคียงอะไรต่อร่างกาย
  • โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) หรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากกันสั้น ๆ ว่า “PG” เป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่ผ่านการรับรองจากอย.ว่า สามารถใช้สารนี้ได้ในอาหารและยา รวมถึงยังสามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสร้างไอหรือหมอกสำหรับเวทีการแสดงต่าง ๆ แต่หากสัมผัสหรือสูดดมอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาและปอดได้

ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับประเภทบุหรี่ไฟฟ้า

พอตกับบุหรี่ไฟฟ้าต่างกันยังไง
พอตกับบุหรี่ไฟฟ้าต่างกันยังไง

ในวงการบุหรี่ไฟฟ้าหลายคนมักเคยได้ยินคำว่า “พอด (Pod)” แล้วพอดกับบุหรี่ไฟฟ้าต่างกันยังไง? พอดไฟฟ้าจริง ๆ แล้วคือ บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่ใช้งานง่าย พกพาง่าย เพียงแค่เติมน้ำยาก็สามารถใช้งานได้เลย โดยพอดข้อเสียต่อร่างกายคือต้องใช้น้ำยาเฉพาะอย่างน้ำยาซอลนิค ทำให้สารนิโคตินในน้ำยาสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็วกว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ

บุหรี่ไฟฟ้าดีอย่างที่ว่า จริงไหม?

บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไหม
บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไหม

หลาย ๆ คนมักเคยเห็นคำโฆษณาที่ว่า “สูบบุหรี่ไฟฟ้าดีกว่า ปลอดภัยกว่าสูบบุหรี่ธรรมดา” หรือ “บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้” แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าดีอย่างที่ว่าจริงไหม? สำหรับในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่สรุปออกมาอย่างแน่ชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา หรือการสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้จริง เพราะในบุหรี่ไฟฟ้านั้นยังมีส่วนประกอบของสารนิโคตินอยู่ แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีโทษน้อยกว่าการสูบบุหรี่ปกติ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวนทั่วไป และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงแต่ตัวช่วยให้คนที่ไม่สามารถเลิกติดสารนิโคตินได้ หันจากการสูบบุหรี่มวนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น

สูบบุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าสูบบุหรี่มวน จริงหรือไม่?

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่มวนแตกต่างกันตรงไหน? ความแตกต่างของบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่มวนคือ “บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวนปกติ” ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นข้อแตกต่างของบุหรี่ทั้งสองแบบ ซึ่งการที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีกระบวนการเผาไหม้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) เป็นต้น สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าอันตรายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวนธรรมดา นอกจากนี้สารพิษในบุหรี่มวนยังมีมากกว่า 7,000 ชนิดที่ถูกปล่อยออกมาในรูปแบบควันบุหรี่

อย่างไรก็ตามสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสารนิโคตินที่สามารถเข้าไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด จนอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

ผลกระทบต่อสุขภาพจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

  1. ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการได้รับสารนิโคติน
  • มะเร็งปอด
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดฉับพลัน
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • เกิดอาการป่วยเกี่ยวกับหลอดลม
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจทำให้เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
  • เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
  • มีปัญหาช่องปาก เช่น มีกลิ่นปาก เป็นโรคเหงือกและฟัน
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น
  1. หากใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับสารนิโคตินเกินขนาด
  2. จากการสำรวจพบว่า มีกรณีที่ปริมาณนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ากับปริมาณนิโคตินบนฉลากน้ำยาไม่ตรงกัน อาจทำให้เสี่ยงเจอปริมาณนิโคตินสูงกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก
  3. นิโคตินเหลวในบรรจุภัณฑ์หากมีการเก็บรักษาไม่ถูกต้องหรือเก็บไว้นาน อาจมีเชื้อราหรือเชื้อโรคก่อตัวขึ้นได้ ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  4. อาจเกิดการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า ถ้าหากเก็บไว้ในสถานที่ไม่ถูกต้องหรือเอื้ออำนวย เช่น เก็บบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในที่อุณหภูมิสูง และการนำตัวอุปกรณ์และแบตเตอรี่สัมผัสกับโลหะ เช่น เหรียญ เครื่องประดับ กุญแจ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้สามารถเสี่ยงให้เกิดการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า

ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่

สำหรับผู้ที่ต้องการอยากเลิกบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่มวนปกติ สามารถฝึกปฏิบัติตัวได้ตามวิธีดังต่อไปนี้

  1. เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกให้ชิน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะยากในช่วงแรก แต่ถ้าค่อย ๆ เริ่มทีละนิดก็จะกลายเป็นความเคยชินและเลิกบุหรี่ได้ เช่น ฝึกเคี้ยวหมากฝรั่ง รับประทานผลไม้ กินถั่ว หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ รวมถึงต้องใจแข็งไม่ใจอ่อนให้ตัวเองกลับไปสูบอีก สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตือนตัวเองอยู่เสมอ

  1. ทำกิจกรรมให้หลากหลาย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

กิจกรรมที่เราสนใจหรือกิจกรรมที่ยังไม่เคยลองทำ จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจให้ลดอาการอยากสูบบุหรี่ลงได้ เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรกต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้โฟกัสอยู่กับสิ่ง ๆ นั้นได้นาน ๆ 

  1. รักษาทางการแพทย์

หากลองมาหลายวิธีแล้ว หรือผู้ที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางการเลิกสูบบุหรี่ได้โดยตรง เพราะแพทย์จะมีวิธีการรักษา รวมถึงวิธีการรับมือกับอาการขาดนิโคติน เช่น การใช้ยาหรือสารที่มีส่วนประกอบของนิโคตินในรูปแบบสเปรย์ ยาอม หรือยาเลิกบุหรี่ที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน จนกว่าผู้สูบจะมีอาการดีขึ้นและไม่กลับไปสูบบุหรี่อีก

  1. ปรึกษาสายด่วนโดยตรง เลิกบุหรี่โทร 1600

ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติจะมีเบอร์สายด่วนคือ 1600 ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่สามารถโทรสอบถามข้อมูลและขอความช่วยเหลือได้ การเลิกบุหรี่ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับใจของคุณ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *