ข้อเสียของการจัดฟัน

ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการจัดฟัน และมีผลต่อความคงอยู่ของฟันในระยะยาว ได้แก่

1. มีการสูญเสียแร่ธาตุของเคลือบฟัน และฟันผุ
การมีเครื่องมือจัดฟันในปากมักทำให้คราบจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น เชื้อแบคทีเรียก็มากขึ้น pH ในปากก็ลดลง เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (demineralization) เห็นเป็นรอยสีขาวบนผิวเรียบของฟันดังรูปข้างล่างครับ ถ้าคุมอนามัยช่องปากได้และร่วมกับทันตกรรมป้องกัน เช่น การใช้ฟลูออไรด์เสริมในรูปแบบต่างๆ ก็จะมีโอกาสสะสมแร่ธาตุคืนได้ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าปล่อยให้อนามัยช่องปากแย่ลงรอยพวกนี้จะผุเป็นหลุม มีผลต่ออายุการใช้งานฟันแน่ครับ

 

 

 

2.อันตรายต่อเคลือบฟันโดยตรง
หากมีการจัดวางแบร็คเก็ตอย่างไม่ระมัดระวังแล้วฟันคู่สบสบลงบนแบร็คเก็ตอย่างแรงก็เป็นอันตรายต่อผิวเคลือบฟันได้ จุดเสี่ยงจะอยู่ที่ปลายฟันหน้าบนกับปุ่มยอดฟันด้านติดกระพุ้งแก้มของฟันกรามบน การใช้เครื่องมืออย่างตัวกดแบนด์,ตัวถอดแบนด์โดยไม่ระวังก็ทำอันตรายฟันได้ครับ โดยเฉพาะฟันที่อุดมาใหญ่ๆนี่เสี่ยงที่จะแตกได้มากเลยหากถูกกระทบโดยไม่ตั้งใจ ในขั้นตอนการถอดแบร็คเก็ตก็ต้องระวังครับถ้าใช้หัวกรอเร็วมีโอกาสกินผิวเคลือบฟันได้ แต่เรื่องพวกนี้ถ้าไม่ถึงกับเคลือบฟันกระเทาะออกไปเลยก็ไม่มีผลกับอายุการใช้งานฟันมากครับ

3. ฟันตาย
แรงในการจัดฟันจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ออกซิเจนของเซลล์ในโพรงประสาทฟัน ยิ่งแรงดึงฟันเยอะหรือยิ่งดึงนานๆก็ยิ่งรบกวนระบบไหลเวียนในโพรงประสาทฟัน ดังนั้นจึงต้องพยายามใช้แรงน้อยๆอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการอักเสบในโพรงประสาทฟันเพียงเล็กน้อยและยังกลับคืนภาวะปกติได้ มีรายงานว่าฟันที่ตายจากการจัดฟันมีน้อยเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการจัดฟันครับ แต่ถ้าเกิดฟันตายขึ้นมาจริงแล้วปล่อยไว้ไม่รักษาคลองรากฟันก็จะเกิดการละลายตัวของรากฟันและมีภาวะอักเสบรุนแรงจนสูญเสียฟันได้ครับ

 

 

 

 

4. รากฟันละลายตัว 
สาเหตุจากอะไรยังไม่แน่นอนครับ แต่มีทฤษฎีที่ยอมรับมากที่สุดคือ เกิดจากแรงจัดฟันที่มากเกินไปทำให้สะสม hyalin ในเอ็นยึดปริทันต์ส่งผลให้เร่งการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่ละลายกระดูกและละลายเคลือบรากฟัน (osteoclast และ cementoclast)[ ] การละลายจะเป็นแบบละลายจากภายนอก (external root resorption) จะเกิดขึ้นทั้งที่ปลายรากหรือด้านข้างราก เห็นได้ชัดเจนในภาพถ่ายรังสี มักเกิดกับฟันรากเล็กๆก่อนได้แก่ฟันหน้าล่างหรือรากฟันกรามด้านติดกระพุ้งแก้ม ระดับการละลายตัวส่วนมากไม่เกิน 2 มม. และมีรายงานยืนยันว่าแทบจะไม่มีผลต่อความคงทนของฟันครับ (ถ้าไม่ละลายตัวมากนะครับ)

 

 

 

5. การสูญเสียอวัยวะปริทันต์ (เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ กระดูกเบ้ารากฟัน)
เนื่องด้วยเครื่องมือจัดฟันนั้นทำให้การดูแลอนามัยช่องปากลำบากขึ้น หากคุมอนามัยช่องปากไม่ได้ก็จะเกิดภาวะปริทันต์อักเสบขึ้นจนสูญเสียของอวัยวะปริทันต์บางส่วนไป จะเห็นชัดๆว่ามีเหงือกร่น ถ้าเสียอวัยวะปริทันต์มากๆย่อมมีผลต่ออายุการใช้งานฟันครับ

 

 

 

 

 

 

 

จะเห็นว่าส่วนนึงอยู่ที่หมอได้รักษาคุณอย่างรอบคอบหรือไม่ ส่วนนึงอยู่ที่คุณใส่ใจในอนามัยช่องปากตนเองหรือไม่ ถ้าดีด้วยกันทั้งสองส่วนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดฟันครับ

 

 

 

ที่มา Google guru คุณ Karkatoa

One comment

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *